ศาสตราจารย์ดอน สแวเร่อร์ : ครูสุภาพบุรุษ


ผู้ทำให้โลกวิชาการตะวันตกรู้จัก พุทธทาสภิกขุ และ พุทธศาสนาไทย

ประชา หุตานุวัตร
จาก www.semsikkha.org



ขณะที่พวกเราที่เป็นศิษยานุศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาสและ สถาบันบางแห่งที่เห็นคุณค่าของท่านกำลังเตรียมจัดกิจกรรม เพื่อฉลองร้อยปีเกิดท่านอาจารย์ที่จะมาถึงในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ คนหนึ่งที่พวกเราต้องไม่ลืมในโอกาสนี้ก็คือ ดอนัลด์ สแวเร่อร์ (Donald Swearer) หรือที่พวกเราเรียกกันว่าอาจารย์ดอน

 

อาจารย์ดอน สแวเร่อร์ เป็นศิษย์คนสำคัญที่สุดของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่แนะนำให้โลกวิชาการตะวันตกรู้จักผลงานของท่าน ยิ่งกว่านั้นจะกล่าวว่า อาจารย์ดอนคือที่มาของหนังสือธรรมโฆษณ์ที่แต่ละเล่มมีแกนเรื่องก็ว่าได้ เพราะเมื่อพบกันครั้งแรกอาจารย์ดอนปรารภกับท่านอาจารย์ว่า จะค้นความคิดท่านตลอดแต่ละเรื่องนั้นยากมาก เพราะท่านพูดไว้กระจัดกระจาย นี่เองเป็นที่มาของรายการเทศน์ประจำวันเสาร์ที่ลานหินโค้งของสวนโมกข์ แล้วกลายมาเป็นหนังสือปกดำในชุดธรรมโฆษณ์อันลือเลื่อง

 

อาจารย์ดอนเริ่มต้นจากการแปลงานของท่านออกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อกว่า ๔๐ปีมาแล้ว รวมเล่มครั้งเริ่มแรกคือ Towards the Truth ต่อมาได้รวบรวมและแปลงานของท่านอีกหลายชิ้นโดยเฉพาะ "ตัวกู-ของกู" หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของท่านออกเป็น "Me and Mine" ก่อนหน้านั้นก็ได้แปลธรรมิกสังคมนิยมของท่านออกให้ชาวต่างชาติได้รู้จักความคิดทางการเมืองของท่านด้วย ทั้งยังได้เขียนเกี่ยวกับชีวิตและความคิดของท่านออกมาหลายชิ้นเป็นต่างหากออกไป

 

งานแปลงานเขียนของอาจารย์ดอนนั้น สถาบันที่สอนพุทธศาสนศึกษาหลายแห่งในตะวันตก จะต้องใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนวิชานี้ทั้งสิ้น ทำให้คนที่แสวงหาความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาได้รู้จักชีวิต และความคิดของท่านอาจารย์กว้างขวางออกไปมาก

 

อันที่จริงนักวิชาการฝรั่งที่มาสนใจงานและความคิดของท่านอาจารย์มีหลายคน แต่อาจารย์ดอนต่างจากคนอื่นอย่างสำคัญตรงที่เขียนเกี่ยวกับท่าน และแปลงานท่านอาจารย์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะที่นักวิชาการคนอื่นส่วนมากใช้ท่าทีที่เต็มไปด้วยอหังการมมังการ ทำตัวว่ารู้ดีกว่าท่านอาจารย์ พยายามจับผิดท่านทั้งที่รู้ไม่พอ

 

การแปลหนังสือธรรมะนั้น ไม่เหมือนกับการแปลหนังสือวิชาการทั่วไป เพราะหลายประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมะนั้น คนแปลจำต้องปฏิบัติธรรมพอที่จะเข้าใจความหมายที่ไม่สามารถจะเข้าใจด้วยตรรกธรรมดาด้วย

อาจารย์ดอนนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรม อย่างสม่ำเสมอ จนเราอาจสังเกตเห็นได้ในวิถีชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นสุขและพอใจทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาด้านนี้ที่วิทยาลัย สวอธมอร์ อันเป็นวิทยาลัยขนาดเล็กด้านศิลปศาสตร์ชั้นเลิศหนึ่งในไม่กี่แห่งของสหรัฐอเมริกา แต่คนไทยน้อยคนจะรู้จัก นี่ก็ออกจะเป็นธรรมดาของบ้านเรากระมัง อาจารย์พอใจสอนที่นี่ อย่างให้เวลาและเอาใจใส่ศิษย์หา อย่างรักใคร่ใยดีต่อกัน ถ้าจะย้ายไปมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เพื่อหาโอกาสทำงานวิจัยให้มีชื่อเสียงกว่านี้ก็ย่อมทำได้ แต่อาจารย์ดอนเห็นว่าชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องสำคัญของชีวิต เรื่องสำคัญคือได้ทำงานที่ตนเชื่อว่ามีความหมาย อาจารย์เป็นคนเรียบง่าย อ่อนโยนสุภาพ ศิษย์เข้าหาได้ง่าย มีเวลาให้ศิษย์

 

เราต้องเข้าใจว่าในสหรัฐฯนั้นเวลาของบรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลายมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง และไม่ให้กันง่ายๆ ส่วนใหญ่สงวนไว้เพื่อทำงานวิจัยหาชื่อเสียง และความสำเร็จส่วนตนอย่างน่าเกลียดน่ากลัว

อาณาบริเวณของวิทยาลัยสวอธมอร์ร่มรื่น น่าอยู่ จำนวนรักเรียนต่อครูประมาณ ๙ ต่อ ๑ ซึ่งหาไม่ได้ง่าย แต่นี่ก็หมายความว่าค่าใช้จ่ายสูง คนที่เข้าได้ก็ต้องมาจากฐานะดี เพราะค่าเล่าเรียนแพงมาก มิฉะนั้นก็ต้องเรียนเก่งมากจึงจะได้ทุนเรียน คนก่อตั้งเป็นพวกศาสนาคริตส์นิกายเควเก้อ ที่เชื่อในสันติวิธี และความเป็นธรรมในสังคม ต้องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีทัศนคติที่กว้างไกล รักสันติภาพและรักความเป็นธรรม

อันที่จริงภูมิหลังที่อาจารย์สแวเร่อร์หันมาสนใจท่านอาจารย์พุทธทาส และศาสนาสพุทธนั้นน่าสนใจ เดิมทีอาจารย์สแวเร่อร์ เป็นหมอสอนศาสนาคริสต์มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แล้วได้รับเชิญไปสอนภาษาอังกฤษพิเศษที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของฝ่ายมหานิกาย ตอนสอนจบจะร่ำลากัน พระนักศึกษาได้มอบหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสให้หลายเล่มเป็นของขวัญ นั่นปี๒๕๐๒ ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ อาจารย์ดอนก็ศึกษางานของท่านมาไม่ได้ขาด และเมื่อกลับมาเยี่ยมเมืองไทย ได้พบกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปรารภว่าสนใจจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์ อาจารย์สุลักษณ์ก็อาสาพาลงไปกราบท่านอาจารย์ด้วยกัน เมื่ออาจารย์ดอนทำปริญญาโทและปริญญาเอกที่โรงเรียนเทวศาสตร์แห่งเยล (Yale Divinity School) ก็ทำเรื่องที่เกี่ยวกับคำสอนของท่านอาจารย์แห่งโมกขพลาราม

 

แม้ทุกวันนี้อาจารย์ดอนยังไปโบสถ์วันอาทิตย์เป็นประจำ ตามประเพณีทางศาสนาเดิมของตน แต่ก็ได้ใช้หลักธรรมจากท่านอาจารย์พุทธทาสที่เป็นสากลเป็นประทีบของชีวิต รวมทั้งการเจริญอานาปานสติด้วย อาจารย์ดอน สแวเร่อร์ บอกกับผมว่านับถือท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นบุพการีในทางธรรม (Spiritual Father)

อาจารย์ได้เปิดสอนวิชาพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่วิทยาลัยสวอธมอร์เป็นประจำ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจศาสนาพุทธของประเทศนั้นจำนวนหนึ่งได้รู้จักด้านที่ดีที่สุดของศาสนาพุทธ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสุขส่วนตัวเท่านั้น หากห่วงหาอาทรต่อความเป็นธรรมในสังคมและสภาพแวดล้อมในทางนิเวศวิทยาด้วย สำหรับผมแล้ว นี้คือการบูชาคุณท่านอาจารย์ชนิดที่ท่านพอใจยิ่งคือเป็นปฏิบัติบูชาที่ท่านอาจารย์ถือว่าสูงส่งกว่าอามิสบูชาเป็นไหนๆ

 

ปัจจุบันลูกๆ ได้เติบโตแยกครอบครัวออกไปแล้ว อาจารย์อยู่กับแนนซี่ศรีภรรยาที่รักใคร่ดูแลกันมานมนาน ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่เยลด้วยกันมา ในช่วงสามปีมานี้ อาจารย์สอนที่สวอทมอร์ปีละหนึ่งภาคเรียน เวลาอีกส่วนหนึ่งอาจารย์มาทำงานที่เชียงใหม่นี่เอง ปีนี้อาจารย์อยู่เชียงใหม่จนถึงเดือนพฤษภาคม ในทางวิชาชีพนั้นท่านได้ตำแหน่งและรางวัลมากมายในฐานะนักวิชาการที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความเป็นมนุษย์ของท่านที่ได้รับการบ่มเพาะจนงอกงามอย่างน่านิยม ด้วยการประยุกต์พุทธธรรมไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไม่ต้องมีตราประทับว่าเป็นพุทธศาสนิกด้วยซ้ำไป

และนี่คือคุณค่าพิเศษสุดของพุทธธรรม